วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

วิธีประกันตัว เมื่อถูกจับ


วันนี้จะมาคุยกันวิธีเกี่ยวกับการประกันตัวผู้ที่ถูกตำรวจจับและการเตรียมตัวที่จะยื่นขอประกันนะครับ

มันเป็นเรื่องเข้าใจได้ครับว่าเมื่อใครคนใดคนหนึ่งถูกตำรวจจับก็จะตั้งสติไม่ค่อยอยู่ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป แต่สิ่งแรกที่คนๆนั้นคิดคือ ไม่อยากต้องเข้าไปอยู่ในห้องขัง สิ่งที่อยากแนะนำให้ทำในเบื้องต้นมีดังนี้ครับ 

1.      ตั้งสติให้ได้ก่อน แล้วถามตำรวจหรือผู้จับว่า คุณถูกจับข้อหาอะไร เมื่อทราบแล้วก็ถามตำรวจว่า คุณมีสิทธิอะไรบ้างตามกฎหมาย
2.      พยายามติดต่อญาติหรือคนรู้จัก เพื่อให้เขารู้ว่า คุณถูกจับอยู่จะได้ช่วยกันดำเนินการถูก หากเป็นไปได้ก็พยายามหาทนายความมาคุยแทนคุณไปเลยครับ เพราะทนายความจะรู้แง่มุมและขั้นตอนตามกฎหมายดีกว่าคุณ แต่ก็ควรหาทนายความที่เชื่อถือได้ด้วยนะครับ

เมื่อทำตามขั้นตอนเบื้องต้นแล้ว ตอนนี้ก็ถึงขั้นตอนการประกันตัว ซึ่งจะทำให้คุณไม่ต้องไปนอนในห้องขังหรือนอนในเรือนจำในขณะที่พนักงานสอบสวนยังรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อส่งฟ้องไม่เสร็จ

 โดยการขอประกันตัวในชั้นศาลมี  2  ช่วง 
 
ช่วงแรกเมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการนำตัวผู้ต้องหามาขอฝากขังต่อศาลและศาลอนุญาตให้ขังซึ่งถือว่าผู้ต้องหาอยู่ในอำนาจควบคุมของศาลแล้ว 

ช่วงที่สอง  คือ  ช่วงที่ศาลประทับฟ้องของโจทก์  ผู้ต้องหามีสถานะเป็นจำเลยซึ่งต้องถูกควบคุมตัวอยู่ในอำนาจของศาล  ดังนี้  หากผู้ประกันประสงค์จะขอให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยก็จะต้องยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างสอบสวนหรือระหว่างพิจารณา  แล้วแต่กรณีต่อศาล
               
กำหนดเวลาที่ศาลอนุญาตให้ประกันมีดังนี้
                ชั้นสอบสวน  มีกำหนดเวลาเท่ากับระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ฝากขังจนกระทั่งมีการฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี
                ชั้นพิจารณาของศาล  สัญญาประกันใช้ได้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
                เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกควบคุมตัวโดยศาล  ผู้ประกันสามารถยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยใช้หลักประกันได้ดังนี้

1.        ใช้หลักทรัพย์เป็นประกัน ซึ่งได้แก่
- เงินสด
- ที่ดินมีโฉนด  หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งมีหนังสือรับรองราคาประเมินของสำนักงานที่ดิน  ซึ่งไม่มีภาระผูกพันอันอาจกระทบต่อการบังคับคดี  หากจะนำสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินมาเป็นประกันด้วยก็จะต้องแสดงสำเนาทะเบียนบ้านและหนังสือประเมินราคาสิ่งปลูกสร้างที่น่าเชื่อถือประกอบด้วย
-         ห้องชุดมีโฉนดที่ดินและมีหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด  และต้องไม่มีภาระผูกพันอันอาจกระทบต่อการบังคับคดีได้
-         หลักทรัพย์มีค่าอย่างอื่นที่กำหนดราคา  มูลค่าที่แน่นอนได้  เช่น
     -  พันธบัตรรัฐบาล
     -  สลากออมสิน
     -  สลากออมทรัพย์ทวีสินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
     -  ใบรับเงินฝากประจำของธนาคาร
     -  ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารเป็นผู้ออก
     -  ตั๋วแลกเงิน  หรือเช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่ายหรือรับรองซึ่งสามารถเรียกเก็บเงินได้ในวันที่ทำสัญญาประกัน
     -  หนังสือรับรองของธนาคารเพื่อชำระเบี้ยปรับแทนในกรณีผิดสัญญาประกัน
2. ใช้บุคคลเป็นประกัน
ต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่การงานหรือมีรายได้แน่นอน  เช่น
-         ข้าราชการ  ข้าราชการบำนาญ
-         สมาชิกรัฐสภา
-         ผู้บริหารราชการส่วนท้องถิ่น
-         สมาชิกสภาท้องถิ่น
-         พนักงานองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น
-         พนักงานรัฐวิสาหกิจ
-         พนักงานของรัฐประเภทอื่น ๆ ลุกจ้างของทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจ
-         ผู้บริหารพรรคการเมือง
-         ทนายความ
และเป็นผู้มีความสัมพันธ์กับผู้ต้องหาหรือจำเลย  ได้แก่
-         บุพการี  ผู้สืบสันดาน สามี ภริยา ญาติ
     พี่น้อง
-         ผู้บังคับบัญชา  นายจ้าง
-         บุคคลที่เกี่ยวพันโดยทางสมรส  หรือ
-         บุคคลที่ศาลเห็นว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเสมือนเป็นญาติพี่น้องหรือมีความสัมพันธ์ในทางอื่นที่ศาลห็นสมควรให้ประกันได้

อัตราหลักประกัน
-         ทำสัญญาประกันได้ในวงเงินไม่เกิน 10 เท่าของอัตราเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือนหากวงเงินประกันมียอดสูงกว่าวงเงินที่ผู้นั้นมีสิทธิประกันได้  ศาลอาจกำหนดให้ผู้ขอประกันวางเงินหรือหลักทรัพย์อื่นเพิ่มเติมให้เพียงพอกับวงเงินประกันนั้นได้ หรืออาจให้มีผู้ขอประกันหลายคนร่วมกันทำสัญญาประกันโดยใช้วงเงินของแต่ละคนรวมกันได้

หลักฐานที่ต้องนำมาแสดงในการขอประกันตัว

- บัตรประชาชน  บัตรข้าราชการ  หรือบัตรแสดงตำแหน่งหน้าที่การงาน  ทะเบียนบ้านของจำเลยและผู้ประกันพร้อมสำเนา

- หลักทรัพย์  เช่น  โฉนดที่ดิน  หนังสือรับรองการทำประโยชน์  (..3)  เงินสด  บัญชีเงินฝาก
- หนังสือรับรองจากต้นสังกัดหรือนายจ้าง  (กรณีขอประกันตัวด้วยตำแหน่งหน้าที่)
- หนังสือรับรองราคาประเมิน (กรณีใช้โฉนดที่ดิน, หนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นระกัน)
- หนังสือรับรองจากธนาคาร  (กรณีใช้สมุดเงินฝากเป็นประกัน)
- หลักฐานการยินยอมของคู่สมรส  (กรณีผู้ประกันมีคู่สมรส)

หลักเกณฑ์ในการสั่งคำร้องขอประกัน

เมื่อยื่นคำร้องขอประกันแล้ว ศาลจะพิจารณาเรื่องเหล่านี้ ประกอบในการพิจารณาสั่งคำร้อง  คือ
1.        ความหนักเบาแห่งข้อหา
2.        พยานหลักฐานที่นำสืบแล้วมีเพียงใด
3.        พฤติการณ์ต่างๆ  แห่งคดีเป็นอย่างไร
4.        เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด
5.        ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่
6.        ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใด
7.        คำคัดค้านของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ

ในส่วนของอัตราการขอประกันตัวนั้น ผู้ประกันตัวสามารถตรวจสอบได้จากศาลที่พนักงานสอบสวนจะนำตัวผู้ต้องหาไปฝากขัง ซึ่งอัตราการขอประกันตัวนั้นขึ้นอยู่กับความหนักเบาของหา ในบางศาลอาจให้กรมธรรม์สำหรับบางข้อหา แต่บางข้อหาอาจไม่สามารถใช้กรมธรรม์ได้ หากมีข้อสงสัยในเรื่องเกี่ยวกับการประกันตัวผู้ต้องหา เมื่อไปที่ศาลควรติดต่อกับเจ้าหน้าที่ศาลโดยตรง อย่าติดต่อกับคนภายนอกที่เข้ามาพูดคุยด้วย เพราะมีหลายคนเคยถูกคนพวกนี้หลอกให้เสียเงินฟรีอยู่บ่อย

ขอขอบคุณข้อมูลจากห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ศาลยุติธรรม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น