วันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ง่ายๆ กับการตั้งผู้จัดการมรดก

ผู้จัดการมรดกมีไว้ทำไม

สวัสดีครับ วันนี้มาเริ่มจากเรื่องง่ายๆ ที่บางครั้งอาจคาดไม่ถึงหากเกิดขึ้นแล้วอาจงงได้นะครับ นั่นคือการตั้งผู้จัดการมรดกมาจัดการทรัพย์สินของผู้ตายครับ

เรื่องแบบนี้หลายคนอาจบอกว่ารู้อยู่แล้ว เช่นเมื่อมีคนตายและเราต้องการเอามรดกของเขามาใช้ เราก็ไปตั้งผู้จัดการมรดกมาแบ่งทรัพย์สินให้ญาติๆ แต่หลายคนยังไม่ค่อยเข้าใจครับว่าทำไมต้องมีการตั้งผู้จัดการมรดก จะไปขอให้ใครตั้งให้ ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง จะต้องไปที่ไหน ขั้นตอนการดำเนินการเป็นอย่างไร และอีกหลายๆคำถาม ก็ขออธิบายแบบสั้นๆง่ายๆเลยครับ

เมื่อบุคคลถึงแก่ความตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 และ 1600

ทรัพย์มรดกก็เช่น สมุดเงินฝากธนาคาร โฉนดที่ดิน เงินในบัญชีธนาคาร คู่มือทะเบียนจดทะเบียนรถยนต์

เหตุที่ต้องมาขอตั้งผู้จัดการมรดกเพราะว่า เมื่อทายาทไปติดธนาคารหรือสำนักงานที่ดินเพื่อจะขอถอนเงินหรือขอโอนโฉนดเป็นชื่อทายาท ก็จะได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ว่า มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้วหรือไม่ หากยังไม่มีก็ไม่สามารถคืนเงินได้หรือโอนชื่อหลังโฉนดได้ อย่างนี้เขาเรียกว่า มีเหตุขัดข้องไม่สามารถจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายได้

จึงต้องมาศาลยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกก่อน ....... แต่อย่าคิดว่า เมื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จะเอาทรพัย์สินทั้งหมดของผู้ตายเป็นของตนเองได้นะ เพราะผู้จัดการมรดกมีหน้าที่จัดการมรดกและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทของผู้ตาย

วิธีการขอตั้งผู้จัดการมรดกก็ไม่ยาก
1. เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย และมีทรัพย์สินและมีเหตุขัดข้อง ทายาทโดยธรรมหรือผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ ไม่เกี่ยวหมดสิทธินะครับ ส่วนจะตั้งใครมาเป็นผู้จัดการมรดกก็ได้

2. คำร้องให้ยื่นต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาขณะถึงแก่ความตาย ให้ดูในทะเบียนบ้านผู้ตาย บางคนไปดูที่อยู่ที่โรงพยาบาลที่ผู้ตายตายซึ่งไม่น่าจะใช่

3. ร่างคำร้อง โดยระบุรายละเอียดต่างๆ เช่น ชื่อ ตำบล ที่อยู่ผู้ร้อง เป็นทายาทผู้ตายๆ      ผู้ตายเมื่อไหร่ มีหลักฐานการตาย ผู้ตายมีทายาทกี่คนใครบ้าง มีทรัพย์สินอะไรบ้าง มีเหตุขัดข้องอย่างไร และท้ายสุดก็ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก

4. เมื่อยื่นคำร้องที่ศาลแล้วก็ขอประกาศหน้าศาลหรือประกาศหนังสือพิมพ์ และรอวันนัดไต่สวนคำร้อง ซึ่งเมื่อไปทำขั้นตอนนี้ที่ศาลโดยชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ค่าประกาศหนังสือพิมพ์ ค่าคำร้องแล้ว เจ้าหน้าที่ศาลก็จะนัดวันให้

5. มาศาลตามวันนัดเพื่อทำการไต่สวน โดยนำพยานมาด้วย และก็ตอบคำถามตามคำร้องที่ยื่นไว้ โดยนำพยานเอกสารต่างๆมาให้ครบ เช่น ทะเบียนบ้าน มรณบัตร หนังสือยินยอมของทายาทคนอื่นๆ โฉนดที่ดิน สมุดเงินฝาก

6. รอฟังคำสั่งศาล และขอคัดสำเนาเพื่อไปยื่นต่อธนาคาร หรือ สำนักงานที่ดิน

เห็นได้ว่า การตั้งผู้จัดการมรดกก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิดนะครับ และการไปศาลก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างหลายๆคนจินตนาการไว้ด้วย หวังว่าคงทำให้หลายคนหมดความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการตั้งผู้จัดการมรดกไปได้นะครับ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น