วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2555

แจ้งย้ายทะเบียนบ้านง่ายนิดเดียว

ย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านใหม่ทำยังไง

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปใช้บริการย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านใหม่ที่สำนักงานเขตธนบุรี เนื่องจากผมซื้อคอนโดมาแล้วผมต้องการย้ายชื่อผมที่อยู่ในทะเบียนบ้านเดิมมาเป็นเจ้าบ้านที่คอนโด

ประทับใจการทำงานของสำนักงานเขตมากครับ One stop service รวดเร็ว บริการดี และมีประสิทธิภาพมากครับ ประทับใจจริงๆ และที่น่าประทับใจมากกว่าคือ เจ้าหน้าที่ทำงานวันเสาร์ 8 โมง ถึง 4 โมงเย็นด้วยครับ

เข้าไปไม่ถึง 15 นาทีก็เสร็จแล้วครับ ถ้าเตรียมเอกสารให้ครบ ตอนแรกผมไม่ได้ซีร็อกสำเนาสัญญาซื้อขายไป เจ้าหน้าที่ก็ให้ผมไปถ่ายเอกสารมาเพิ่ม เลยได้ทราบว่าเอกสารที่ต้องเตรียมไปเพื่อย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านใหม่มีดังนี้ครับ

สำเนาทะเบียนบ้านเดิม
สมุดและสำเนาทะเบียนบ้านใหม่
สำเนาสัญญาซื้อขายคอนโด
บัตรประชาชน

กรณีของผมเป็นกรณีที่ผมย้ายออกจากบ้านเดิมซึ่งผมไม่ได้เป็นเจ้าบ้าน ไปเป็นเจ้าบ้านนะครับ หลักฐานที่จำได้ก็มีประมาณนี้นะครับ แต่เพื่อความแน่ใจ ผมว่าก่อนจะไปดำเนินการควรโทรศัพท์ไปสอบถามสำนักงานเขตที่เราจะไปใช้บริการก่อนดีกว่าครับ เดี๋ยวนี้สะดวกสบาย เจ้าหน้าที่พูดจาดี เหมือนไปรับบริการจากบริษัทเอกชนเลยครับ

ตอนที่ผมนั่งรอหน้าเจ้าหน้าที่ที่กำลังพิมพ์ข้อมูลในทะเบียนบ้านใหม่ให้ผม ผมก็เห็นข้อมูลที่ติดอยู่ที่กำแพงหลังเจ้าหน้าที่แจ้งเกี่ยวกับหน้าที่ของเจ้าบ้านครับ ซึ่งผมว่าน่าสนใจเพราะมีบทลงโทษคือค่าปรับด้วย

เขาติดไว้ว่า เจ้าบ้านมีหน้าที่ แจ้งย้ายเข้า ย้ายออก แจ้งเกิด แจ้งตาย ภายใน 15 วันครับ หากไม่แจ้งจะถูกปรับไม่เกิน 1,000 บาท

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเอกสารใดๆที่ต้องใช้ประกอบการแจ้งต่างก็โทรศัพท์ไปที่สำนักงานเขตได้ครับ เว็บนี้เขารวบรวมเบอร์ไว้  http://www.suretax-accounting.com/important-numbers/201-district-office.html

วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ค่าใช้จ่ายต่างๆในการผ่อนคอนโดกับธนาคาร


ผมได้มีโอกาสไปซื้อห้องชุดหรือคอนโดมาห้องหนึ่ง โดยการซื้อของผมนั้นผมขอกู้เงินจากธนาคาร ซึ่งเป็นครั้งแรกที่กู้เงินกับธนาคารซื้อของ ดังนั้นจึงต้องทำเรื่องติดต่อกับธนาคารเกี่ยวกับเอกสารการกู้เงินและการประเมินต่างๆ จึงได้เรียนรู้ว่า การกู้เงินกับธนาคารเพื่อผ่อนคอนโดนั้น มีค่าใช้จ่ายย่อยๆแบบไม่ได้คิดมาก่อนเยอะเหมือนกัน จึงอยากแชร์ประสบการณ์ให้ฟังครับ

ครั้งแรกไม่มีขอบเขตจริงๆครับ

ค่าใช้จ่ายแรกของผมมันเริ่มตั้งแต่ ธนาคารไม่ให้กู้เต็มวงเงินแต่ให้กู้แค่ 90 เปอร์เซ็นต์ เพราะบริษัทที่เป็นเจ้าของโครงการไม่ใช่บริษัทมหาชน ธนาคารแจ้งว่า ถ้าเป็นบริษัทมหาชนก็จะได้วงเงินเต็มตามราคาที่ขาย ผมก็ต้องหาเงินส่วนต่างแล้วซิครับอย่างนี้ ถ้าไม่มีเก็บไว้ก็แย่เหมือนกันนะครับ

ก่อนที่ธนาคารจะอนุมัติให้กู้ ก็แจ้งผมว่าต้องส่งคนไปประเมินหรือดูห้องอะไรประมาณนี้ครับ มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นอีกแล้ว สองพันกว่า

นอกจากนั้นยังมีเรื่องอัตราดอกเบี้ยลอยตัวกับอัตราดอกเบี้ยคงที่ ที่ผมขอให้เจ้าหน้าที่ธนาคารอธิบายให้ฟังแต่ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจ เพราะผมไปใช้โปรแกรมคำนวนในไอโฟนคิดแล้วดูเหมือนผมจะผ่อนน้อยกว่าที่ธนาคารแจ้งมานิดหน่อย แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะสุดท้ายจำนวนที่ธนาคารแจ้งมายังอยู่ในอัตราที่ผมผ่อนไหว

ตอนจะไปโอนกรรมสิทธิ์ก็จะมีค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองอีก ซึ่งจะเป็นเงินประมาณอย่างละ 1 เปอร์เซ็นต์ของราคาซื้อขาย เพราะอีก 1 เปอร์เซ็นต์ ทางธนาคารและทางโครงการน่าจะเป็นคนออกสมทบ

ยังมีค่าประกันอัคคีภัยอีกครับ ตอนแรกธนาคารแจ้งว่า หกพันกว่าบาท แต่ตอนหลังแจ้งผมมาอีกว่า เนื่องจากห้องผมอยู่สูง ค่าประกันจึงแพงขึ้น เป็น เก้าพันกว่าบาทต่อสามปี ยิ่งสูงยิ่งหนาวจริงๆครับ

นอกจากนั้นยังมีค่าทำแคชเชียร์เช็ค และค่าใช้จ่ายของเจ้าหน้าที่ธนาคารอีกนิดหน่อยครับ

หลังจากไปชำระค่าใช้จ่ายต่างๆและเซ็นสัญญากู้กับธนาคารแล้ว ผมรู้สึกว่า ผมได้เรียนรู้อะไรเยอะเกี่ยวกับการกู้เงินซื้อคอนโดกับธนาคาร เยอะเสียจน ไม่อยากจะไปกู้อะไรอีกแล้วครับ เขียนไว้ครับเผื่อว่าใครกู้ธนาคารเป็นครั้งแรกเหมือนผมจะได้เตรียมตัวถูก

วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2555

จัดการกับหนี้บัตรเครดิตยังไงดี



วันนั้นมีเพื่อนโทรมาถามครับว่า เป็นหนี้บัตรเครดิตต้องทำยังไง เพราะว่ามีหมายศาลมาที่บ้านแจ้งว่า ให้ไปขึ้นศาล เคยโทรไปคุยกับคนที่ส่งหนังสือบอกกล่าวมาให้ว่าจะพยายามผ่อนชำระแต่เขาไม่คุยด้วยบอกว่าให้ชำระหนี้ให้ครบหรือไม่ก็ต้องถูกฟ้อง ทำไมต้องถูกเรียกไปขึ้นศาลด้วย เพื่อนถามเยอะมาก....
                                                                                                                      
หากใครเป็นหนี้บัตรเครดิตอยู่ และตกอยู่ในอาการประมาณนี้  แนะนำสั้นๆแบบนี้ครับ
 
1. หยุดคิด เข้าใจครับว่า เมื่อได้รับหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ หลายๆคนจะมีอาการตื่นตระหนกเพราะข้อความที่ว่า หากไม่ปฏิบัติตามภายใน 7 วัน มีความจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย หรือ ขณะเมื่อเปิดซองจดหมายออกมาแล้วปรากฏชื่อของคุณเป็นจำเลย และได้รับการแจ้งให้ไปศาล ความคิดขณะนั้นจะฟุ้งซ่านมาก ขอให้ หยุด คิด แล้วนิ่งไว้ครับ คิดโน่นคิดนี่ไป ดอกเบี้ยมันก็ยังเดินทางและทำหน้าที่ของมันต่อไป แต่ความคิดของเราที่วิ่งอยุ่ในหัวมันไม่ได้ทำหน้าที่ชำระหนี้หรือลดดอกเบี้ยได้เลย เพราะฉะนั้น นิ่ง ไว้ก่อน 

2. ตั้งสติ เมื่อนิ่งไว้ได้แล้ว คนเราก็จะมีสติครับ เมื่อสติมา สมองโล่ง ปัญญาก็จะเกิดครับ เราก็จะหาวิธีการชำระหนี้ได้ ด้วยจำนวนเงินอันมีจำกัดของเรา เพราะจริงๆลูกหนี้มีทางเลือกไม่มาก คือ 1. ชำระหนี้  2. ไม่ชำระหนี้ ไม่มีจ่ายซะอย่าง ยอมถูกฟ้อง แต่ถ้าเลือกวิธีนี้ หากมีทรัพย์สินอะไร หรือรายได้อย่างไร ก็อาจถูกบังคับคดีภายหลังได้

3. สำรวจว่าเป็นหนี้เท่าไร เช็คให้แน่ใจครับว่าเราเป็นหนี้ตามที่เขาแจ้งมาจริงหรือไม่ ดูในใบแจ้งหนี้บัตรเครดิตหรือหลักฐานอะไรก็แล้วแต่ที่เราเก็บไว้ก็ได้ครับ เผื่อว่าบางครั้งเราได้ชำระเงินไปบ้างแล้วแต่บริษัทไม่ได้ลงข้อมูลให้ หรืออย่างน้อยเราก็จะได้รู้ว่า เราใช้เงินในอนาคตที่บัตรเครดิตสร้างให้ไปเยอะขนาดไหน 

4. สำรวจรายรับรายจ่ายด่วน เมื่อคิดที่จะชำระหนี้ที่เราก่อไว้ เราก็ควรจะเริ่มสำรวจรายรับรายจ่ายของตัวเองว่ามีความสามารถในการชำระหนี้ได้เดือนละประมาณเท่าไร จะได้ใช้ป็นข้อมูลในการต่อรองกับเจ้าหนี้

5. วางแผนการชำระหนี้  ร่างแผนการชำระหนี้อย่างคร่าวๆ เพื่อดูศักยภาพในการชำระหนี้ของตนเอง และที่สำคัญเป็นการวางแผนการเงินของเราไปในตัวด้วย จะได้รู้ว่า ใช้จ่ายอะไรไปบ้าง อะไรไม่จำเป็นก็จะได้ลดการใช้จ่ายลง

6. ไปศาลตามนัด การไปศาลตามที่ได้รับการแจ้งมาเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะได้ไปเจรจากับทนายความที่ฟ้องคุณมา ไปบอกเขาว่า เรามีเจตนาที่จะชำระหนี้ ไม่ได้มีเจตนาที่จะเบี้ยว เจรจาต่อหน้าศาลและลองต่อรองว่าจะลดหนี้ให้ได้หรือไม่ หากคุณไม่ไปศาลในวันนัด คุณก็จะขาดนัดพิจารณาและศาลจะมีคำพิพากษาไปฝ่ายเดียว หากเป็นอย่างนี้คุณก็นอนรอคำบังคับจากศาลอยู่ที่บ้านได้เลย และรอถูกบังคับคดี แสดงถึงเจตนาที่ไม่สุจริตที่จะไม่ชำระหนี้ของคุณ

7. ขอทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อคุยกันได้ว่า คุณจะชำระหนี้ ก็จะมีสัญญาประนีประนอมยอมความ มีใจความว่า คุณยอมชำระหนี้เท่านั้นเท่านี้ ด้วยดอกเบี้ยจำนวนนั้นจำนวนนี้ หากไม่ชำระ ยอมให้บังคับคดีได้ทันที ขอย้ำว่า ก่อนเซ็นชื่อ อ่านเงื่อนไขให้เข้าใจก่อนนะครับ ไม่เข้าใจอะไรก็ถามศาลถามทนายให้อธิบายให้ฟัง จะได้ปฏิบัติได้ถูกต้อง

8. ชำระหนี้ตามกำหนด ไม่ยากแล้วครับ หากทุกอย่างมีการวงาแผนมาอย่างดี การชำระหนี้ไม่ใช้เรื่องยาก ที่เหลือก็คือ ระเบียบวินัยในการใช้จ่าย และความอดทน ไม่นานคุณก็จะมีอิสรภาพทางการเงิน และไม่เป็นหนี้ต่อไป

โชคดีนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2555

บันดาลโทสะคืออะไร


เคยได้ยินกันไหมครับในกรณีของคนที่กระทำความผิด เช่น ไปชกหน้าคนอื่น แต่บอกว่าที่ทำไปเป็นเพราะบันดาลโทสะ เช่นถูกด่าเลยรู้สึกโกรธ แล้วฟิวส์จึงขาดชกเขาไป                                                                         

อย่างนี้จะถือว่าคนชกต้องรับผิดตามกฎหมายหรือไม่

ขออธิบายโดยการใช้ถ้อยคำในประมวลกฎหมายและคำพิพากษาศาลฎีกา ดังนี้ครับ

ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๒ บัญญัติว่า ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

ดังนั้นเห็นได้ว่า การที่ไปชกคนอื่นแต่อ้างว่า ทำไปโดยบันดาลโทสะนั้น กฎหมายบอกว่าเป็นความผิด แต่ว่า ประมวลกฎหมายอาญาบอกว่า ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เท่าไรก็ได้                     

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10/2549 มีใจความว่า กรณีที่จะเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72 นั้น ต้องเป็นเรื่องที่ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและเหตุอันไม่เป็นธรรมนั้นต้องเป็นเรื่องร้ายแรง โดยต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับความรู้สึกของคนธรรมดาหรือวิญญูชนทั่วไปที่อยู่ในภาวะวิสัยและพฤติการณ์อย่างเดียวกับผู้กระทำความผิด จะถือเอาความรู้สึกนึกคิดของตัวผู้กระทำความผิดเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ไม่ได้ แม้จำเลยจะเป็นญาติผู้ใหญ่ของผู้ตาย และพูดตักเตือนผู้ตายเรื่องการขับรถจักรยานยนต์ในหมู่บ้านว่าไม่ให้ขับเร็วเพราะเกรงว่าจะชนเด็ก แล้วผู้ตายตอบว่าเป็นรถของผู้ตายเองจะยังคงขับเร็ว และพูดท้าทายจำเลยว่า มึงแก่แล้วอย่ามายุ่งกับกูหากแน่จริงให้ลุกขึ้นมา ซึ่งเป็นการแสดงกิริยายโสโอหัง ไม่สมควรที่จะกระทำต่อจำเลยซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ก็ตาม แต่ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การกระทำของจำเลย จึงมิใช่เป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ

จะทำอะไรก็อย่าใจร้อนนะครับ หากมีใครมาทำอะไรให้โกรธและสามารถใช้สิทธิทางกฎหมายก็ใช้ดีกว่าครับ ไม่น่าจะเป็นเรื่องสนุกที่ต้องตกอยู่ในฐานะจำเลยเสียเอง   
                                                           


วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ให้ยืมเงินโดยไม่ต้องปวดหัว



ต้องยอมรับครับว่าปัจจุบันเงินเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญและความเป็นต่อชีวิตของเรา ดังนั้นหลายๆคนจึงต้องการมันเพื่อเอาไปใช้จ่ายในสิ่งต่างๆ  ตามความจำเป็นของแต่ละบุคคล แต่บางครั้งรายจ่ายก็มากกว่ารายได้  ไหนจะเป็นหนี้บัตรเครดิต ค่าเล่าเรียนลูก ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เมื่อหาได้ไม่พอใช้ คนเราก็มีความจำเป็นต้องหยิบยืมเงินกัน คนที่จะถูกหันมามองเป็นคนแรกก็คือ คนรู้จัก ส่วนใหญ่ตอนขอยืมเงินเรา เขาก็พูดดีกับเรา แต่เป็นไงไป หลังจากให้ยืมแล้วผู้ให้ยืมอย่างเรากลับเหมือนเป็นลูกหนี้คนยืมเวลาไปทวง บางครั้งโดนแหว่งใส่ก็มี                                               

งงไปสิครับ...... กระผมไปเป็นหนี้คุณตั้งแต่เมื่อไร

วันนี้ก็เลยอยากแนะนำวิธีที่เราไม่ต้องพูดเยอะหลังจากให้ใครยืมเงินไปแล้ว

1.      ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดไว้ว่า หากกู้ยืมเงินกัน สองพันบาท ถ้าไม่ได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยมเงินลงลายมือชื่อผู้ยืมไว้ จะฟ้องร้องกันไม่ได้ ดังนั้นจะให้ใครยืมเงินก็ควรเขียนให้ชัดเจนและให้เขาลงลายมือชื่อไว้ จะได้ไม่ต้องมาเถียงกันทีหลังว่าไม่ได้ยืม
2.      เคยฟังรายการเกี่ยวกับการเงินของ Suze Orman ซึ่งเป็นผู้หญิงที่มาให้การแนะนำเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของบุคคลต่างๆ เขาบอกว่า หากเพื่อนมายืมเงิน ก็บอกไปว่าไม่มีตามที่ขอยืม แต่ให้เงินกับเพื่อนที่มาขอยืมเป็นจำนวนที่น้อยกว่าที่เขามายืม ซึ่งวิธีนี้จะไม่ทำให้เสียน้ำใจทั้งคนยืมและคนให้ยืม แนวๆบอกว่า ให้เป็นการช่วยเหลือเพราะเราก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นอยู่  เพื่อนก็ซึ้ง เราก็ชิลเพราะไม่ต้องถูกขอยืมอีก และไม่ต้องไปคอยตามทวง  เรื่องเงินทำให้คนผิดใจกันมาเยอะแล้วนะครับ ต้องระวัง
3.      หากให้ยืมแล้วไปทวงและท่าทางจะไม่ได้คืนแน่ๆ แถมโดนหน้ายักษ์หน้ามารกลับมาด้วย ใช้วิธีแบบนักเล่นหุ้นก็ได้ครับ คือ cut loss ขอคืนแค่ครึ่ง ตัดใจก็ได้ อย่างน้อยก็อาจได้เงินเป็นก้อนกลับคืนมา ส่วนที่เหลือก็ยกๆให้คนยืมไป จะได้ไม่ต้องมาเป็นหนี้ และปวดหัวที่จะต้องมาตามทวงกันอีก และก็จะได้จำไว้ว่า วันหลังจะไม่ให้เพื่อนเลิฟแบบนี้ยืมเงินอีก และเพื่อนเลิฟแบบนี้ก็คงไม่กล้ามายืมเราอีกแน่นอน

โลกปัจจุบันมันเป็นโลกที่หมุนด้วยเงินนะครับ ไม่ว่าคุณจะยอมรับหรือไม่ยอมรับก็แล้วแต่ ค่าใช้จ่ายต่างๆก็แพงขึ้นทุกวัน เงินก็หายากขึ้น ดังนั้นการบริหารจัดการเงินที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นมากๆครับ จะได้ไม่ต้องมาปวดหัว(ใจ) กันภายหลัง




วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ทนายความ บุคคลสำคัญ



ทนายความเป็นบุคคลลำดับต้นๆที่จะได้รับการคิดถึงเมื่อเรามีคดี ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา เพราะทนายความเป็นผู้มีความรู้ทางด้านกฎหมายและรู้วิธีปฏิบัติเมื่อไปศาลมากกว่าบุคคลทั่วไป เมื่อบุคคลประสงค์จะฟ้องร้องดำเนินคดีต่อบุคคลอื่นเนื่องจากถูกกระทำผิดทางอาญาหรือประสงค์จะเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง ก็จะต้องว่าจางทนายความมาว่าความให้ในฐานะที่บุคคลนั้นเป็นโจทก์ หรือ บุคคลหนึ่งอาจตกเป็นจำเลยในคดีแพ่งหรือคดีอาญาก็ต้องหาทนายความมาแก้ต่างให้ ดังนั้นการมีทนายความที่ดีจึงเป็นสิ่งจำเป็น

วันนี้ขอแนะนำเทคนิคการหาทนายความที่ดีให้นะครับ

  1. หาทนายความที่เรารู้จัก หรือทำงานให้เรามาเป็นประจำ หรือว่าทำงานให้เพื่อนหรือญาติ เพราะเราเคยได้รับบริการจากทนายความคนนี้มาแล้ว เราย่อมรู้ดีว่าสามารถเชื่อถือได้
  2. หากไม่รู้จักทนายความคนใดเลย และมีความจำเป็นต้องว่าจ้างทนายความคนที่เราหาได้จริงๆ ให้ลองคุยกับทนายความคนดังกล่าวดูว่า น่าเชื่อถือหรือไม่ สอบถามถึงแนวทางการปฏิบัติงานว่าจะดำเนินการอะไรให้เราบ้าง
  3. ขอนามบัตรและเบอร์โทรศัพท์ติดต่อของทนายความ แล้วลองตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของทนายความที่เราจะว่าจ้าง อย่างน้อยเราก็จะได้รู้ประวัติของคนที่จะมาดำเนินการต่อสู้คดีให้เราว่า มีผลงานอะไรมาบ้าง
  4. ลองไปที่ออฟฟิตของทนายความ เพื่อดูว่ามีสถานที่ทำงานเป็นหลักแหล่งจริงหรือไม่ น่าเชื่อถือหรือไม่
  5. เมื่อตกลงว่าจ้างทนายความคนดังกล่าวแล้ว ควรทำสัญญาว่าจ้างกันไว้ โดยระบุว่า จะให้ดำเนินคดีเรื่องอะไร ต้องชำระเงินเป็นจำนวนเท่าไรและเมื่อไรบ้าง ทนายความจะทำอะไรให้เราบ้าง การว่าจ้างนี้ดำเนินการให้ถึงศาลชั้นไหน เช่น ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฏีกา เงินค่าทนายความรวมค่าธรรมเนียมหรือค่าเดินทางหรือไม่
  6. เมื่อชำระเงินให้ทนายความแล้ว ก็ควรขอใบเสร็จรับเงินค่าว่าจ้างไว้ด้วย บางครั้งกันไว้ก่อนดีกว่าแก้ คนเรานั้นตอนดีกันก็คุยกันได้ดี แต่ตอนมีปัญหากันแล้วมักคุยกันไม่รู้เรื่องนะครับ จากประสบการณ์ที่ได้เห็นๆมา

ปัจจุบันระบบการสื่อสารพัฒนาไปมาก การตรวจสอบข้อมูลต่างๆก็ทำได้ง่ายขึ้น การที่จะจ้างใครมาว่าความให้เรา ถือว่าเราก็ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจเขาพอสมควรให้ดำเนินการต่างๆในคดีแทนเรา อย่างน้อยเราก็ควรได้รับรู้ข้อมูลของคนนั้นๆพอสมควรที่เราจะสบายใจได้ว่า เงินที่เราจ่ายไปจะคุ้มค่า และทำให้เราสบายใจได้

หมายเหตุ บทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นของผู้เขียน ไม่ได้ประสงค์ให้มีผลผูกพันทางกฎหมาย ไม่สามารถใช้อ้างอิงหรือใช้ในทางวิชาการได้ การดำเนินการตามคำแนะนำเป็นความรับผิดชอบส่วนตัวของผู้ใช้    


วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

วิธีประกันตัว เมื่อถูกจับ


วันนี้จะมาคุยกันวิธีเกี่ยวกับการประกันตัวผู้ที่ถูกตำรวจจับและการเตรียมตัวที่จะยื่นขอประกันนะครับ

มันเป็นเรื่องเข้าใจได้ครับว่าเมื่อใครคนใดคนหนึ่งถูกตำรวจจับก็จะตั้งสติไม่ค่อยอยู่ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป แต่สิ่งแรกที่คนๆนั้นคิดคือ ไม่อยากต้องเข้าไปอยู่ในห้องขัง สิ่งที่อยากแนะนำให้ทำในเบื้องต้นมีดังนี้ครับ 

1.      ตั้งสติให้ได้ก่อน แล้วถามตำรวจหรือผู้จับว่า คุณถูกจับข้อหาอะไร เมื่อทราบแล้วก็ถามตำรวจว่า คุณมีสิทธิอะไรบ้างตามกฎหมาย
2.      พยายามติดต่อญาติหรือคนรู้จัก เพื่อให้เขารู้ว่า คุณถูกจับอยู่จะได้ช่วยกันดำเนินการถูก หากเป็นไปได้ก็พยายามหาทนายความมาคุยแทนคุณไปเลยครับ เพราะทนายความจะรู้แง่มุมและขั้นตอนตามกฎหมายดีกว่าคุณ แต่ก็ควรหาทนายความที่เชื่อถือได้ด้วยนะครับ

เมื่อทำตามขั้นตอนเบื้องต้นแล้ว ตอนนี้ก็ถึงขั้นตอนการประกันตัว ซึ่งจะทำให้คุณไม่ต้องไปนอนในห้องขังหรือนอนในเรือนจำในขณะที่พนักงานสอบสวนยังรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อส่งฟ้องไม่เสร็จ

 โดยการขอประกันตัวในชั้นศาลมี  2  ช่วง 
 
ช่วงแรกเมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการนำตัวผู้ต้องหามาขอฝากขังต่อศาลและศาลอนุญาตให้ขังซึ่งถือว่าผู้ต้องหาอยู่ในอำนาจควบคุมของศาลแล้ว 

ช่วงที่สอง  คือ  ช่วงที่ศาลประทับฟ้องของโจทก์  ผู้ต้องหามีสถานะเป็นจำเลยซึ่งต้องถูกควบคุมตัวอยู่ในอำนาจของศาล  ดังนี้  หากผู้ประกันประสงค์จะขอให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยก็จะต้องยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างสอบสวนหรือระหว่างพิจารณา  แล้วแต่กรณีต่อศาล
               
กำหนดเวลาที่ศาลอนุญาตให้ประกันมีดังนี้
                ชั้นสอบสวน  มีกำหนดเวลาเท่ากับระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ฝากขังจนกระทั่งมีการฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี
                ชั้นพิจารณาของศาล  สัญญาประกันใช้ได้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
                เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกควบคุมตัวโดยศาล  ผู้ประกันสามารถยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยใช้หลักประกันได้ดังนี้

1.        ใช้หลักทรัพย์เป็นประกัน ซึ่งได้แก่
- เงินสด
- ที่ดินมีโฉนด  หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งมีหนังสือรับรองราคาประเมินของสำนักงานที่ดิน  ซึ่งไม่มีภาระผูกพันอันอาจกระทบต่อการบังคับคดี  หากจะนำสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินมาเป็นประกันด้วยก็จะต้องแสดงสำเนาทะเบียนบ้านและหนังสือประเมินราคาสิ่งปลูกสร้างที่น่าเชื่อถือประกอบด้วย
-         ห้องชุดมีโฉนดที่ดินและมีหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด  และต้องไม่มีภาระผูกพันอันอาจกระทบต่อการบังคับคดีได้
-         หลักทรัพย์มีค่าอย่างอื่นที่กำหนดราคา  มูลค่าที่แน่นอนได้  เช่น
     -  พันธบัตรรัฐบาล
     -  สลากออมสิน
     -  สลากออมทรัพย์ทวีสินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
     -  ใบรับเงินฝากประจำของธนาคาร
     -  ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารเป็นผู้ออก
     -  ตั๋วแลกเงิน  หรือเช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่ายหรือรับรองซึ่งสามารถเรียกเก็บเงินได้ในวันที่ทำสัญญาประกัน
     -  หนังสือรับรองของธนาคารเพื่อชำระเบี้ยปรับแทนในกรณีผิดสัญญาประกัน
2. ใช้บุคคลเป็นประกัน
ต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่การงานหรือมีรายได้แน่นอน  เช่น
-         ข้าราชการ  ข้าราชการบำนาญ
-         สมาชิกรัฐสภา
-         ผู้บริหารราชการส่วนท้องถิ่น
-         สมาชิกสภาท้องถิ่น
-         พนักงานองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น
-         พนักงานรัฐวิสาหกิจ
-         พนักงานของรัฐประเภทอื่น ๆ ลุกจ้างของทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจ
-         ผู้บริหารพรรคการเมือง
-         ทนายความ
และเป็นผู้มีความสัมพันธ์กับผู้ต้องหาหรือจำเลย  ได้แก่
-         บุพการี  ผู้สืบสันดาน สามี ภริยา ญาติ
     พี่น้อง
-         ผู้บังคับบัญชา  นายจ้าง
-         บุคคลที่เกี่ยวพันโดยทางสมรส  หรือ
-         บุคคลที่ศาลเห็นว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเสมือนเป็นญาติพี่น้องหรือมีความสัมพันธ์ในทางอื่นที่ศาลห็นสมควรให้ประกันได้

อัตราหลักประกัน
-         ทำสัญญาประกันได้ในวงเงินไม่เกิน 10 เท่าของอัตราเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือนหากวงเงินประกันมียอดสูงกว่าวงเงินที่ผู้นั้นมีสิทธิประกันได้  ศาลอาจกำหนดให้ผู้ขอประกันวางเงินหรือหลักทรัพย์อื่นเพิ่มเติมให้เพียงพอกับวงเงินประกันนั้นได้ หรืออาจให้มีผู้ขอประกันหลายคนร่วมกันทำสัญญาประกันโดยใช้วงเงินของแต่ละคนรวมกันได้

หลักฐานที่ต้องนำมาแสดงในการขอประกันตัว

- บัตรประชาชน  บัตรข้าราชการ  หรือบัตรแสดงตำแหน่งหน้าที่การงาน  ทะเบียนบ้านของจำเลยและผู้ประกันพร้อมสำเนา

- หลักทรัพย์  เช่น  โฉนดที่ดิน  หนังสือรับรองการทำประโยชน์  (..3)  เงินสด  บัญชีเงินฝาก
- หนังสือรับรองจากต้นสังกัดหรือนายจ้าง  (กรณีขอประกันตัวด้วยตำแหน่งหน้าที่)
- หนังสือรับรองราคาประเมิน (กรณีใช้โฉนดที่ดิน, หนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นระกัน)
- หนังสือรับรองจากธนาคาร  (กรณีใช้สมุดเงินฝากเป็นประกัน)
- หลักฐานการยินยอมของคู่สมรส  (กรณีผู้ประกันมีคู่สมรส)

หลักเกณฑ์ในการสั่งคำร้องขอประกัน

เมื่อยื่นคำร้องขอประกันแล้ว ศาลจะพิจารณาเรื่องเหล่านี้ ประกอบในการพิจารณาสั่งคำร้อง  คือ
1.        ความหนักเบาแห่งข้อหา
2.        พยานหลักฐานที่นำสืบแล้วมีเพียงใด
3.        พฤติการณ์ต่างๆ  แห่งคดีเป็นอย่างไร
4.        เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด
5.        ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่
6.        ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใด
7.        คำคัดค้านของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ

ในส่วนของอัตราการขอประกันตัวนั้น ผู้ประกันตัวสามารถตรวจสอบได้จากศาลที่พนักงานสอบสวนจะนำตัวผู้ต้องหาไปฝากขัง ซึ่งอัตราการขอประกันตัวนั้นขึ้นอยู่กับความหนักเบาของหา ในบางศาลอาจให้กรมธรรม์สำหรับบางข้อหา แต่บางข้อหาอาจไม่สามารถใช้กรมธรรม์ได้ หากมีข้อสงสัยในเรื่องเกี่ยวกับการประกันตัวผู้ต้องหา เมื่อไปที่ศาลควรติดต่อกับเจ้าหน้าที่ศาลโดยตรง อย่าติดต่อกับคนภายนอกที่เข้ามาพูดคุยด้วย เพราะมีหลายคนเคยถูกคนพวกนี้หลอกให้เสียเงินฟรีอยู่บ่อย

ขอขอบคุณข้อมูลจากห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ศาลยุติธรรม


วันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ง่ายๆ กับการตั้งผู้จัดการมรดก

ผู้จัดการมรดกมีไว้ทำไม

สวัสดีครับ วันนี้มาเริ่มจากเรื่องง่ายๆ ที่บางครั้งอาจคาดไม่ถึงหากเกิดขึ้นแล้วอาจงงได้นะครับ นั่นคือการตั้งผู้จัดการมรดกมาจัดการทรัพย์สินของผู้ตายครับ

เรื่องแบบนี้หลายคนอาจบอกว่ารู้อยู่แล้ว เช่นเมื่อมีคนตายและเราต้องการเอามรดกของเขามาใช้ เราก็ไปตั้งผู้จัดการมรดกมาแบ่งทรัพย์สินให้ญาติๆ แต่หลายคนยังไม่ค่อยเข้าใจครับว่าทำไมต้องมีการตั้งผู้จัดการมรดก จะไปขอให้ใครตั้งให้ ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง จะต้องไปที่ไหน ขั้นตอนการดำเนินการเป็นอย่างไร และอีกหลายๆคำถาม ก็ขออธิบายแบบสั้นๆง่ายๆเลยครับ

เมื่อบุคคลถึงแก่ความตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 และ 1600

ทรัพย์มรดกก็เช่น สมุดเงินฝากธนาคาร โฉนดที่ดิน เงินในบัญชีธนาคาร คู่มือทะเบียนจดทะเบียนรถยนต์

เหตุที่ต้องมาขอตั้งผู้จัดการมรดกเพราะว่า เมื่อทายาทไปติดธนาคารหรือสำนักงานที่ดินเพื่อจะขอถอนเงินหรือขอโอนโฉนดเป็นชื่อทายาท ก็จะได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ว่า มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้วหรือไม่ หากยังไม่มีก็ไม่สามารถคืนเงินได้หรือโอนชื่อหลังโฉนดได้ อย่างนี้เขาเรียกว่า มีเหตุขัดข้องไม่สามารถจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายได้

จึงต้องมาศาลยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกก่อน ....... แต่อย่าคิดว่า เมื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จะเอาทรพัย์สินทั้งหมดของผู้ตายเป็นของตนเองได้นะ เพราะผู้จัดการมรดกมีหน้าที่จัดการมรดกและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทของผู้ตาย

วิธีการขอตั้งผู้จัดการมรดกก็ไม่ยาก
1. เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย และมีทรัพย์สินและมีเหตุขัดข้อง ทายาทโดยธรรมหรือผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ ไม่เกี่ยวหมดสิทธินะครับ ส่วนจะตั้งใครมาเป็นผู้จัดการมรดกก็ได้

2. คำร้องให้ยื่นต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาขณะถึงแก่ความตาย ให้ดูในทะเบียนบ้านผู้ตาย บางคนไปดูที่อยู่ที่โรงพยาบาลที่ผู้ตายตายซึ่งไม่น่าจะใช่

3. ร่างคำร้อง โดยระบุรายละเอียดต่างๆ เช่น ชื่อ ตำบล ที่อยู่ผู้ร้อง เป็นทายาทผู้ตายๆ      ผู้ตายเมื่อไหร่ มีหลักฐานการตาย ผู้ตายมีทายาทกี่คนใครบ้าง มีทรัพย์สินอะไรบ้าง มีเหตุขัดข้องอย่างไร และท้ายสุดก็ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก

4. เมื่อยื่นคำร้องที่ศาลแล้วก็ขอประกาศหน้าศาลหรือประกาศหนังสือพิมพ์ และรอวันนัดไต่สวนคำร้อง ซึ่งเมื่อไปทำขั้นตอนนี้ที่ศาลโดยชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ค่าประกาศหนังสือพิมพ์ ค่าคำร้องแล้ว เจ้าหน้าที่ศาลก็จะนัดวันให้

5. มาศาลตามวันนัดเพื่อทำการไต่สวน โดยนำพยานมาด้วย และก็ตอบคำถามตามคำร้องที่ยื่นไว้ โดยนำพยานเอกสารต่างๆมาให้ครบ เช่น ทะเบียนบ้าน มรณบัตร หนังสือยินยอมของทายาทคนอื่นๆ โฉนดที่ดิน สมุดเงินฝาก

6. รอฟังคำสั่งศาล และขอคัดสำเนาเพื่อไปยื่นต่อธนาคาร หรือ สำนักงานที่ดิน

เห็นได้ว่า การตั้งผู้จัดการมรดกก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิดนะครับ และการไปศาลก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างหลายๆคนจินตนาการไว้ด้วย หวังว่าคงทำให้หลายคนหมดความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการตั้งผู้จัดการมรดกไปได้นะครับ